ไข้ (Fever)
หรือตัวร้อน เป็นอาการเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติชั่วคราว มักจะมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยหรือโรคภัยต่าง ๆ ที่พบบ่อยจะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย นอกจากนั้น การเป็นไข้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย
อาการไข้
อาการไข้เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิปกติ ซึ่งอุณหภูมิปกติของร่างกายของคนเรานั้นจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส โดยที่อาจสูงหรือต่ำกว่าเล็กน้อย อาการที่พบได้ทั่วไปเมื่อเป็นไข้ ได้แก่ ปวดหัว หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
สาเหตุของอาการไข้
อาการไข้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจมาจากการติดเชื้อ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในร่างกาย โรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ จากการตากแดดเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดขึ้นจากอาหารเป็นพิษ โดยโรคหรือสาเหตุเหล่านี้จะกระตุ้นทำให้เป็นไข้
การวินิจฉัยอาการไข้
การวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะถามอาการอย่างละเอียดและซักประวัติทางการแพทย์ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกาย หรืออาจให้ทำการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และเมื่อตรวจจนทราบสาเหตุ ก็จะทำการรักษาตามอาการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการลดไข้ รวมไปถึงรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของไข้
การรักษาอาการไข้
ในเบื้องต้น การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้และการปวดศีรษะ เช็ดตัว จากนั้นจะรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของการทำให้เกิดไข้ เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของอาการไข้
ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความรุนแรง โดยขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของไข้ เช่น ไวรัส หรือแบคทีเรีย ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะร่างกายขาดน้ำรุนแรง อาการสับสน ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากมักจะเกิดได้น้อย หากเกิดขึ้นก็มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง หากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันอาการไข้
การป้องกันการเกิดไข้หรือตัวร้อน สามารถป้องกันได้โดยการลดความเสี่ยงของการสัมผัสหรือการได้รับเชื้อโรค เช่น หมั่นดูแลสุขอนามัยของตนเองด้วยการล้างมือบ่อย ๆ จนไปถึงระวังการใช้ภาชนะต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น