ไอ (Cough)
คือ อาการที่ร่างกายมีการตอบสนองและกำจัดสิ่งที่กีดขวางระบบทางเดินหายใจ อย่างมูก เสมหะ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ อย่างละอองฝุ่นหรือควัน เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด การไอมี 2 ลักษณะ คือ ไอแห้ง กับไอแบบมีเสมหะ การไอที่เกิดขึ้นทั่วไปและไม่ได้เป็นสัญญาณสำคัญของโรคร้ายแรงใด จะมีอาการดีขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ แต่หากมีอาการสำคัญอื่นเกิดขึ้นร่วมกับการไอ ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้ออยู่ในลำคอ ไอเป็นเลือด ไออย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วไม่ทุเลาลงเกินกว่า 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป
อาการของการไอ
- ไอแห้ง – มีอาการคันและระคายเคืองภายในลำคอ โดยไม่มีเสมหะหรือมูกหนาเกิดขึ้น
- ไอแบบมีเสมหะ – มีเสมหะภายในลำคอ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยกำจัดสารหรือสิ่งสกปรกที่ติดค้างภายในลำคอ
สาเหตุของการไอ
การรับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะในอากาศ ขนสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร ไอระเหยจากสี น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีกลิ่นฟุ้ง การสูบบุหรี่ หรือการหายใจสูดเอาควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเข้าไปในปอด
การใช้ยาบางชนิด
ยารักษาบางโรคบางอาการอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นการไอได้ เช่น กลุ่มยาต้านเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาลดความดันโลหิตและช่วยการทำงานของหัวใจ ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและภาวะอาการที่เกี่ยวกับหัวใจ และกลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) ที่ทำให้ชีพจรเต้นช้าลงทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีผลข้างเคียงทำให้หลอดลมตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอได้ หากอาการไอเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาเหล่านี้ อาการจะหมดไปด้วยเมื่อผู้ป่วยหยุดการใช้ยา
โรคและภาวะอาการป่วย
สามารถทำให้เกิดการไออย่างเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน หรืออย่างเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความรุนแรงของโรค
โรคที่มักเป็นสาเหตุของอาการไออย่างเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หากไม่มีอาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จะฟื้นตัวและหายจากอาการไอภายในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
ส่วนอาการไอที่เกิดขึ้นกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน แต่ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวช้าหรือมีการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าอาการไอแบบเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด ซึ่งอาการจะทุเลาลงและฟื้นตัวภายใน 3-8 สัปดาห์ และอาการไอเรื้อรังที่มีอาการยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 8 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง กรดไหลย้อน มะเร็งปอด หรือน้ำท่วมปอดอันเนื่องมาจากหัวใจล้มเหลว
การวินิจฉัยการไอ
โดยทั่วไปแล้ว อาการไอจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ แต่หากมีอาการสำคัญอื่นเกิดขึ้นร่วมกับการไอ ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บคอ รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้ออยู่ในลำคอ ไอเป็นเลือด หรือไออย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วอาการไม่ทุเลาลงเกินกว่า 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ดังต่อไปนี้
การตรวจเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติการป่วย อาการป่วยในปัจจุบัน โรคประจำตัว ประวัติการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด และสภาพแวดล้อมที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ทดสอบการทำงานของปอดด้วยการใช้หูฟัง ฟังเสียงหายใจเข้าและออก หากมีเสียงหวีดแสดงว่าปอดทำงานผิดปกติ หากตรวจพบความผิดปกติเช่นนี้ จะนำไปสู่การส่งตรวจหาโรคในขั้นต่อไป เช่น การเอกซเรย์ช่องอกเพื่อตรวจหาความผิดปกติของปอด การตรวจหาการติดเชื้อจากเสมหะภายในลำคอ เพื่อให้ทราบสาเหตุปัญหาที่ทำให้เกิดอาการไอ และทำการรักษาให้ตรงกับโรคต่อไป
การรักษาอาการไอ
วิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอาการไอ คือ รักษาตามโรคและอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของการไอ
ส่วนอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองต่อสารและเชื้อโรคที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แม้อาการจะทุเลาลงและหายดีภายในเวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ แต่หากอาการไอรบกวนการใช้ชีวิต มีวิธีที่จะช่วยรักษาและบรรเทาอาการ ได้แก่
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อให้เสมหะไม่ข้นเหนียวและขับออกมาได้ง่าย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการคอแห้งที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
- รับประทานน้ำผึ้ง น้ำชา น้ำขิงร้อน หรือน้ำมะนาว แต่ต้องไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี รับประทานน้ำผึ้ง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโบทูลิซึมในเด็ก ซึ่งเป็นผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเด็ก
- ใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ กลั้วคอเพื่อกำจัดมูกและเสมหะสกปรกที่ติดค้างในลำคอ
- หลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่
- การใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ ไอแห้ง ใช้กลุ่มยากดอาการไอ (Antitussives) เพื่อบรรเทาอาการไอแห้งที่เกิดขึ้น ส่วนไอแบบมีเสมหะ ใช้กลุ่มยากำจัดเสมหะ (Expectorants) หรือยาขับเสมหะ ซึ่งกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้มูกเหลวและเสมหะมีความเหนียวข้นลดน้อยลง จึงสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ลดการอุดตันบริเวณลำคอที่ทำให้เกิดอาการไอ และยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) ทำให้มีการหดเกร็งตัวของหลอดลมน้อยลง หลอดลมขยายขึ้นทำให้หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของการไอ
อาจเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนจากการไอได้ หากไออย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น อาการเจ็บหน้าอก เจ็บคอ คอบวม ปวดหัว วิงเวียน อ่อนล้า นอนหลับไม่สนิท ไม่สามารถนอนหลับได้ ปัสสาวะเล็ด หรือกระทั่งซี่โครงร้าวซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก หากพบภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นปัญหา ควรหาทางรักษาและไปพบแพทย์
การป้องกันอาการไอ
การไอที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการป่วยที่ร้ายแรง จะเป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ การป้องกันไม่ให้เกิดการไอจึงทำได้โดย
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพื่อรักษาสุขภาพปอดและหัวใจ
- หลีกเลี่ยงมลภาวะ เช่น ฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันบนท้องถนน
- หากเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้ยา แพ้สารใด ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นในชีวิตประจำวัน
- รับประทานอาหารบำรุงสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ธัญพืช อาหารที่มีไขมันต่ำ เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่ดี
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อสร้างระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง